ระบำลพบุรี
เป็นระบำโบราณคดีเพลงหนึ่ง เกิดขึ้นโดยเลียนแบบลักษณะท่าทางของเทวรูป
ภาพเขียน ภาพแกะสลัก รูปปั้น รูปหล่อโลหะและภาพศิลาจำหลัก-ทับหลังประตู
ตามโบราณสถาน ที่ขุดพบในสมัยลพบุรี ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 16-19
ศิลปวัตถุโบราณประเภทนี้อยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น ปราสาทหินพิมาย
ในจังหวัดนครราชสีมาพระปรางค์สามยอดลพบุรีแล้วนำมากำหนดยุดสมัยตามความเก่าแก่ของโบราณสถานและโบราณวัตถุ
แล้วมาสร้างเป็นระบำสมัยนั้นขึ้น
ลีลาท่าทางของศิลปวัตถุเป็นภาพนิ่ง(ท่าตาย) เหมาะเป็นท่าเทวรูปมากกว่า
เมื่ออาศัยหลักทางด้านนาฏศิลป์เข้ามาดัดแปลงเป็นท่ารำ ทำให้มีความอ่อนช้อย
สวยงาม ผู้ประดิษฐ์ท่ารำ คือ ครูลมุล ยมะคุปต์ ร่วมด้วยครูเฉลย ศุขะวณิช
ผู้เชี่ยวชาญนาฏศิลป์ไทย กรมศิลปากร
ระบำ ลพบุรี เป็นระบำชุดที่ 3
ในระบำโบราณคดีที่เกิดขึ้นจากแนวความคิดของนายธนิต อยู่โพธิ์
(อดีตอธิบดีกรมศิลปากร) เช่นเดียวกับระบำทวารวดี
อยู่ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 16 – 19 ประดิษฐ์ขึ้น
โดยอาศัยหลักฐานจากโบราณวัตถุ และภาพจำหลักตามโบราณสถาน
ซึ่งสร้างขึ้นตามแบบศิลปะของขอม ที่อยู่ในประเทศกัมพูชา และประเทศไทย อาทิ
พระปรางค์สามยอดในจังหวัดลพบุรี
ทับหลังประตูระเบียงตะวันตกของปราสาทหินพิมายในจังหวัดนครราชสีมา
ปราสาทหินพนมรุ้งในจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นต้น